ปัญหาเกี่ยวกับสายตาผิดปกติ
top of page

ปัญหาเกี่ยวกับสายตาผิดปกติ

อัปเดตเมื่อ 7 ก.ย. 2566

สายตาปกติ เป็นผลของการที่แสงโฟกัสผ่านกระจกตา (Cornea) และเลนส์แก้วตา (Crystalline Lens) ลงพอดีที่จอประสาทตา (Retina) ทำให้ภาพที่เรามองเห็นมีความคมชัด ถ้ากำลังการรวมแสง (Refractive power) ของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา เป็นผลให้การรวมแสงของตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตา เกิดภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive errors หรือ Ametropia) ซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้


1. สายตาสั้น (Near-sightedness หรือ Myopia)

สายตาสั้นเกิดจากกำลังการรวมแสงของตามากเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา อาจเกิดจากการที่กระจกตาโค้งมากเกินไป หรือขนาดลูกตายาวเกินไป เมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลแสงรวมก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน ในทางตรงกันข้ามแสงจากวัตถุที่อยู่ใกล้รวมใกล้จอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจนกว่า ผู้ที่มีสายตาสั้นสามารถมองใกล้ได้ชัดกว่ามองไกล การแก้ไขปัญหาสายตาสั้นสามารถทำได้โดยใช้เลนส์เว้าช่วยลดกำลังการรวมแสงที่มีมากเกินไปเพื่อให้สามารถมองไกลได้ดี


สายตาสั้น (Near-sightedness หรือ Myopia)



2. สายตายาวโดยกำเนิด (Far-sightedness, Hypermetropia หรือ Hyperopia)

สายตายาวโดยกำเนิด เกิดจากกำลังการรวมแสงของตาน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา อาจเกิดจากการที่กระจกตาแบนเกินไป หรือขนาดลูกตาสั้นไป แสงถึงจอประสาทตาก่อนรวมเป็นจุดภาพจะไม่ชัดทั้งใกล้และไกล ผู้ที่มีสายตายาวโดยกำเนิดเล็กน้อย สามารถมองไกลได้ดี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น หรือมีการเพ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือตาล้าได้ และสูญเสียการมองไกลทำให้มองไกลไม่ชัดเจน การแก้ไขภาวะสายตายาวโดยกำเนิด สามารถทำได้โดยใช้เลนส์นูนเพิ่มกำลังการรวมแสงเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ดี

สายตายาวโดยกำเนิด (Far-sightedness, Hypermetropia หรือ Hyperopia)



3. สายตาเอียง (Astigmatism)

สายตาเอียงเกิดจากกำลังการรวมแสงของตาในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน มักเกิดจากกระจกตาไม่กลม เปรียบได้กับผิวความโค้งด้านข้างของไข่ไก่ หรือลูกฟุตบอล ภาวะนี้มักเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้นหรือยาวโดยกำเนิด ทำให้เห็นภาพซ้อน ผู้ที่มีสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง จะยังคงมองใกล้ได้ดีกว่ามองไกล แต่ภาพที่เห็นจะไม่ชัดเจนแม้ว่าจะใกล้ก็ตาม การแก้ไขสายตาเอียงโดยการใช้แว่นสายตา จะต้องใช้เลนส์ชนิดพิเศษเรียกว่า cylindrical lens เพื่อใช้ปรับกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันในระยะใกล้และไกล

สายตาเอียง (Astigmatism)



4. สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

เมื่อมีอายุ 38 ปี คนทั่วไปซึ่งเคยมองเห็นได้ดีทั้งใกล้และไกล โดยไม่ต้องใช้แว่น จะเริ่มสังเกตว่าการมองใกล้เริ่มเป็นปัญหาสายตายาวตามอายุ เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการมองใกล้ ซึ่งต่างจากสายตายาวโดยกำเนิดตรงที่ สายตายาวตามอายุจะมีปัญหาในการมองใกล้เท่านั้น ส่วนสายตายาวโดยกำเนิดจะมีปัญหาทั้งการมองใกล้และมองไกล เพราะฉะนั้นผู้ที่มีทั้งสายตายาวโดยกำเนิดและสายตายาวตามอายุ จำเป็นต้องใช้แว่นเพื่อใช้มองทั้งใกล้และไกล

สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page