top of page
41728483_l.jpg
  • คำถามที่พบบ่อย FAQ

ReLEx SMILE คืออะไร?
 

  • ReLEx SMILE เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่พัฒนามาจากเลสิค และ FemtoLASIK โดยการนำเนื้อกระจกตาส่วนเกินออกในลักษณะ Lenticule ผ่านแผลขนาดเล็กเป็นการผ่าตัดไร้ใบมีด โดยจะใช้ Laser ในทุกขั้นตอนการผ่าตัด แผลมีความยาวประมาณ 2-5 mm. ไม่มีการเปิดชั้นกระจกตา และเป็นการผ่าตัดที่รบกวนกระจกตาน้อยที่สุด

รักษาด้วยวิธี ReLEx SMILE เจ็บไหม?
 

  • ไม่รู้สึกเจ็บ เพราะในขั้นตอนการผ่าตัดจะไม่มีเครื่องมือกดทับที่กระจกตา ก่อนทำการผ่าตัดคนไข้จะรับประทานยา Valium เพื่อช่วยคลายความกังวลและหยอดยาชาที่ตา ดวงตาเป็นอวัยวะที่แตกต่างจากอวัยวะอื่น ๆ คือ หลังจากหยอดยาชาแล้ว คนไข้จะไม่รู้สึกชาเหมือนความชาของอวัยวะอื่น เช่น การฉีดยาชาที่ฟัน คนไข้บางท่านจึงอาจกังวลว่าตายังไม่ชา ก่อนการทำผ่าตัดแพทย์จะทำการทดสอบความชาของตาคนไข้ก่อนทุกครั้ง

ต้องมีค่าสายตาเท่าไหร่ถึงจะทำการรักษา ReLEx SMILE หรือ เลสิค ได้?

  • คนไข้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง จริง ๆ ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องมีค่าสายตาเท่าไรถึงจะทำการรักษาได้ แต่มีหลายปัจจัยที่จะใช้ในการพิจารณาว่าคนไข้สามารถทำเลสิคหรือ ReLEx SMILE ได้หรือไม่ มีเข้ารับการรักษาตั้งแต่น้อยสุด 0.75 ไดออปเตอร์ จนถึงมากสุดไม่เกิน 13.00 ไดออปเตอร์ สั้น,ยาว,เอียง แค่ไหนควรจะเข้ารับการผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนไข้เอง เพราะความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะขึ้นอยู่กับอาชีพที่ต้องการมีสายตาที่คมชัดเต็มที่ การผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการลดการพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ เช่น บางคนไม่อยากใส่แว่นตา แต่ก็ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้เพราะว่าเคืองตา หรือตาแห้ง เป็นต้น

สายตาเอียงทำเลสิคได้ไหม?

  • ภาวะสายตาเอียงเกิดจากลูกตามีลักษณะเป็นทรงรีแทนที่จะเป็นทรงกลม ส่วนมากแล้วเลเซอร์สามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้เกือบทุกระดับค่าสายตา แต่ถ้ามีภาวะสายตาเอียงมาก จะเหมาะกับการรักษาโดยการใส่เลนส์เสริม (PIOL) แบบแก้ไขสายตาเอียง (Toric Implantable Collamer lens) ซึ่งสั่งตัดมาเฉพาะบุคคล คนไข้ที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเลสิค หรือ ReLEx ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น (Myopia), สายตายาว (Hyperopia), สายตาเอียง (Astigmatism) และอาจร่วมกับสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

หลังทำ ReLEx หรือ เลสิค ใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นได้หรือไม่?

  • หลังทำการรักษาสามารถใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่นได้หลังผ่าตัดแล้วอย่างน้อย 3 เดือน และควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน เนื่องจากค่าความโค้งกระจกตามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจจะไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์สี หรือบิ๊กอายที่มีขายตามร้านแว่น หรือร้านทั่วไปได้

ทำงานอยู่หน้าคอมฯ ตลอด ทำการรักษา ReLEx หรือ เลสิค ได้ไหม?

  • ทำการรักษาได้ ในกรณีคนไข้ที่ต้องใช้สายตาในการทำงานมาก ๆ แนะนำให้พักสายตาทุกหนึ่งชั่วโมง โดยการหลับตานิ่ง ๆ 1–2 นาที หรืออาจจะเปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นชั่วคราว และหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ เพื่อลดอาการตาแห้ง

อายุเท่าไรถึงทำการรักษาได้?

  • อายุที่เหมาะสมสำหรับเข้ารับการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ด้วยวิธี ReLEx , FemtoLASIK , LASIK หรือ PRK คืออายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 65 ปี หากอายุน้อยกว่า 18 ปี ค่าสายตาจะยังไม่คงที่ และยังมีการปรับเปลี่ยนของสภาวะร่างกายอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าสายตายังไม่คงที่ ส่วนอายุหลัง 65 ปีขึ้นไป อาจจะเริ่มมีภาวะโรคต้อกระจก (Cataract) หากมาตรวจแล้วพบว่าไม่มีโรคต้อกระจกก็สามารถทำการรักษาได้ แต่หากเริ่มเป็นต้อกระจกแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกจะได้ประโยชน์มากกว่า

กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถทำการรักษาได้หรือไม่?

  • ไม่แนะนำให้เข้ารับการรักษาภาวะสายตาผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงดังกล่าวภาวะฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นค่าสายตาที่ตรวจวัดจึงไม่แม่นยำ หากวางแผนตั้งครรภ์ต้องหลังผ่าตัดอย่างน้อย 3 เดือน และสตรีหลังคลอดบุตรหรือยังอยู่ในช่วงให้นมบุตรอยู่ ต้องรอให้รอบเดือนมาอย่างน้อย 2 เดือนติดต่อกันก่อน จึงจะเข้ารับการรักษาได้

ทำการรักษาด้วย ReLEx หรือ เลสิค ต้องพักฟื้นกี่วัน?

  • หลังจากเปิดฝาครอบตาและพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัดในวันแรกแล้ว คนไข้ส่วนใหญ่สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ แต่มีข้อควรระวังมิให้เหงื่อ หรือน้ำเข้าตาเป็นเวลา 3 – 7 วัน (ขึ้นอยู่กับวิธีที่เลือกเข้ารับการรักษา) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการพักฟื้นขึ้นอยู่กับความประสงค์ของตัวคนไข้เอง การทำเลสิค หรือ ReLEx ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องหยุดพักฟื้นกี่วัน คนไข้สามารถไปทำงานหรือไปเรียนได้ในวันถัดไป ในกรณีคนไข้ที่ต้องใช้สายตามาก ๆ แนะนำให้พักสายตาทุกหนึ่งชั่วโมง โดยการหลับตานิ่ง ๆ 1 – 2 นาที  หรืออาจจะเปลี่ยนอริยาบท ไปทำอย่างอื่นชั่วคราว

สายตาจะกลับมาสั้นได้อีกหรือไม่?

  • การรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นวิธี ReLEx, FemtoLASIK, LASIK หรือ PRK เป็นการแก้ไขความผิดปกติของสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง อย่างถาวร ในกลุ่มคนไข้ที่กลับมามีภาวะสายตาสั้นอีกมาจากหลายสาเหตุ เช่น คนไข้ที่มีค่าสายตาสั้น สายตาเอียงมากเกินไป การปรับเปลี่ยนของค่าสายตาเมื่ออายุมากขึ้น การใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ หลังจากทำเลสิค ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีโอกาสเกิดภาวะสายตาสั้นขึ้นอีกได้แต่เป็นส่วนน้อย หลังทำการรักษาไปแล้ว หากกลับมามีค่าสายตาอีก (การถดถอยของสายตา) สามารถพิจารณาเติมเลเซอร์ได้ ซึ่งจะต้องรอให้ค่าสายตาที่ถดถอยนั้นคงที่เสียก่อนจึงจะสามารถพิจารณาเติมเลเซอร์ได้

มีภาวะทางสุขภาพใดบ้าง ที่ไม่เหมาะสมต่อการเข้ารับการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ?

  • คนไข้ที่เข้ารับการรักษาควรจะมีสุขภาพเป็นปกติดี การรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธี ReLEx , FemtoLASIK , LASIK หรือ PRK อาจไม่เหมาะสมกับโรคทางร่างกายที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรค SLE, โรค Sjogren's syndrome, โรคสะเก็ดเงิน, โรคภูมิคุ้มกันเกินอื่นๆ รวมทั้งเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และโรคของกระจกตา เช่น โรคกระจกตาย้วย, ตาแห้งอย่างรุนแรง และโรคตาอย่างอื่น เช่น จอประสาทตาเสื่อม

สายตายาวตามอายุรักษาได้ไหม?

  • สำหรับผู้ที่สายตาสั้น ร่วมกับภาวะสายตายาวตามอายุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การรักษาจะมี 2 แบบ ได้แก่
    1. มีค่าสายตายาวตามอายุเท่านั้น สามารถรักษาแบบ Near Vision ด้วยวิธี FemtoLASIK, LASIK หรือ PRK โดยการทำให้ตาข้างไม่ถนัด สามารถใช้อ่านหนังสือได้ และปล่อยให้ตาข้างถนัดไว้ใช้มองไกล
    2. มีค่าสายตาสั้น เอียง ร่วมกับสายตายาวตามอายุ สามารถรักษาแบบ Monovision ได้ ด้วยวิธี ReLEx, FemtoLASIK, LASIK หรือ PRK โดยจะแก้ไขตาข้างถนัดให้ใช้สำหรับมองไกล ส่วนตาอีกข้างจะถูกแก้ไขให้สามารถใช้อ่านหนังสือหรือมองใกล้ได้ โดยตาข้างที่แก้ไขสำหรับมองใกล้นั้น ในการรักษาแบบ Monovision จะมีการปรับค่าสายตาโดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้แต่ละท่าน

    *ในวันที่เข้ามาตรวจวิเคราะห์สภาพตา คนไข้จะได้ทดลองคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาหลายระดับ เพื่อเลือกว่าค่าสายตาระดับไหนที่เหมาะกับตัวคนไข้มากที่สุด

ก่อนมาตรวจ ทำไมต้องงดใส่คอนแทคเลนส์?

  • ต้องงดใส่คอนแทคเลนส์ก่อนเข้ามาตรวจวิเคราะห์สภาพตา เนื่องจากตัวคอนแทคเลนส์จะสัมผัสโดยตรงกับกระจกตา เมื่อใส่คอนแทคเลนส์ไปนานๆ อาจทำให้รูปร่างของกระจกตาเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อให้กระจกตาในการกลับคืนรูปร่างตามธรรมชาติ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (ถอด 14 วันก่อนเข้ามาตรวจ) จะมีผลต่อกระจกตามากกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (ถอด 3 วันก่อนเข้ามาตรวจ) การวัดสายตาโดยที่ถอดคอนแทคเลนส์มาไม่นานพอ จะได้ค่าการวัดสายตาที่ไม่เที่ยงตรง นอกจากนั้นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ยังมีผลต่อปริมาณของน้ำตาที่หล่อเลี้ยงผิวตา ทำให้เกิดผิวตาแห้ง ส่งผลต่อการตรวจวัดสายตา และการสมานตัวของเซลล์ผิวตา หากความโค้งของกระจกตายังไม่ปกติ หรือยังมีภาวะผิวตาแห้ง จักษุแพทย์จะแนะนำให้ท่านถอดคอนแทคเลนส์ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน หรือตามความเหมาะสม และนัดท่านกลับมาตรวจสภาพกระจกตาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทำการรักษาไปแล้ว ค่าสายตาจะเหลือเป็น 0 หรือไม่?

  • แพทย์จะพยายามกำหนดค่าเลเซอร์ให้คนไข้ทำผ่าตัดแล้วได้ค่าเข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วคนไข้ส่วนใหญ่จะสามารถมองเห็นได้ดีโดยไม่ต้องใช้แว่นหรือคอนแทคเลนซ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนไข้ท่านนั้น จะมีค่าสายตาวัดได้เท่ากับศูนย์ อาจมีสายตาสั้น 50, 25 เอียง 50 หรือ 75 ได้ โดยทั่วไปน้อยคนมากที่จะวัดค่าสายตาออกมาแล้วได้ค่าเท่ากับศูนย์

bottom of page