ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้สำหรับเทคโนโลยีสื่อสาร ที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน และใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ เมื่อใช้ติดเป็นเวลานานๆ ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรค CVS ทั้งสิ้น แถมโรคนี้ยังใกล้ตัว ชนิดที่แทบจะอยู่คู่กับคนยุคใหม่ และชาวออฟฟิศเลยทีเดียว แต่หลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นหูกับชื่อโรคนี้มากนัก นพ. พิชิต นริพทะพันธุ์ จักษุแพทย์ TRSC ศูนย์เลสิคนานาชาติ จะมาให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ
Computer Vision Syndrome (CVS) พบได้ทุกเพศทุกวัย ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป และอยู่ในที่มีความสว่างไม่เพียงพอ หรือเกิดจากความสว่างของหน้าจอที่ปรับไว้ไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน ทำให้เกิดอาการอาการตาพร่ามัว ล้าตา ตาแห้ง เคืองตา เจ็บตา ปวดรอบดวงตา เห็นภาพซ้อน บางรายอาจมีการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่ และหลังร่วมด้วย เนื่องจากอยู่ในท่านั่งการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากค่าสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข อาทิ สายตายาว สายตาเอียง
วิธีการป้องกันโรค Computer Vision Syndrome
1. ใช้สูตร 20 : 20 : 20 คือ พักสายตาระหว่างการใช้งานทุกๆ 20 นาที ควรหลับตาเพื่อพักสายตา 20 วินาที และมองไกลอย่างน้อย 20 ฟุต และเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ ในทุก 2 ชั่วโมง ให้หยุดพักเป็นเวลาประมาณ 15 นาที
2. กะพริบตาถี่ๆ แนะนำให้ลองกะพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตาเปลือกตาจะรีดน้ำตามาฉาบผิวกระจกตา และพักสายตาโดยการหลับตา หรือลุกเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง จะช่วยได้มากครับ
3. ปรับขนาดตัวอักษรบนหน้าจอ ให้มีขนาดที่เหมาะสม มองเห็นชัดเจน ปรับแสงสว่างให้สบายตามากที่สุด หรือเลือกใช้หน้าจอชนิดที่ลดแสงสะท้อน
4. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงสว่างจากภายนอกที่มีแสงจ้ามากเกินไป และควรระวังไม่ให้แสงจากหน้าจอสว่าง หรือมืดกว่าแสงโดยรอบมากเกินไป
5. หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 15 - 20 องศา และบริเวณกลางหน้าจอควรอยู่ห่างจากใบหน้า 50 - 70 ซม.
6. ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หรือหากมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา ควรรีบพบจักษุแพทย์โดยด่วน
ดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก และยุคนี้ Computer Vision Syndrome เป็นโรคที่ใกล้ตัวเราเรียกว่าใกล้ชิด จึงควรดูแลดวงตาให้ดี หลีกเลี่ยงการใช้สายตาที่หนักเกินไป และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อรักษาอาการได้ทันท่วงทีค่ะ
Comments